โรคมะเร็งในช่องปาก

โรคมะเร็งคือความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่สามารถเจริญได้อย่างไม่จำกัดและทำลายเนื้อปกติโดยรอบ โรคมะเร็งในช่องปากแสดงด้วยอาการเจ็บปวดหรือก้อนเนื้อที่โตขึ้นในปากและไม่ดีขึ้นตามเวลา อวัยวะที่สามารถพบโรคมะเร็งในช่องปากได้แก้ ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เนื้อพื้นปาก เพดานปาก และสามารถเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ในช่วงต้นของการดำเนินโรค

 

อาการของโรค

อาการของโรคมะเร็งในช่องปากโดยทั่วไป
• พบการบวมโต ก้อนเนื้อ หรือแผลบริเวณ ริมฝีปาก เหงือก หรือบริเวณอื่นๆในช่องปาก
• พบรอยโรคสีขาว สีแดง หรือสีขาวปนแดงในปาก
• พบเลือดผิดปกติไม่พบสาเหตุในปาก
• มีอาการชา หรือเจ็บปวดไม่พบสาเหตุบริเวณใบหน้า ปาก และลำคอ
• มีแผลบริเวณเนื้อเยื่อในช่องปากคล้ายแผลร้อนในและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
• อาการเจ็บปวด หรือมีก้อนติดอยู่ในลำคอ
• อาการกลืน เคี้ยวอาหาร พูด หรืออ้าปากได้ยาก
• อาการน้ำหนักลด
หากท่านพบอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจโดยทันที

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในช่องปาก

• การสูบบุหรี่หรือยาสูบ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่นั้นพบมะเร็งในช่องปากได้บ่อยกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 6 เท่า
• การเคี้ยวหมาก พบว่าการเคี้ยวหมากสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้บริเวณริมฝีปาก เนื้อเยื่อพื้นปาก และเหงือกได้มาก
• การดื่มสุราเป็นประจำ โรคมะเร็งในช่องปากพบได้บ่อยในผู้ที่ดื่มสุราได้มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มสุราถึง 6 เท่า
• มีประวัติบุคคลในครอบครัวมีโรคมะเร็งในช่องปาก
• เชื้อไวรัสบางชนิดเช่น Human papilloma virus เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งในช่องปาก
ทั้งนี้ยังพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นครั้งคราว
จากการสำรวจพบว่าอัตราการรอดชีวิตในหนึ่งปีแรกของผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากและลำคอทุกระยะการดำเนินโรคอยู่ที่ร้อยละ 81 และอัตรารอดชีวิตห้าปีแรกและสิบปีแรกอยู่ทีร้อยละ 56 และ 41 ตามลำดับ

 

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยและเฝ้าระวังมะเร็งในช่องปาก สามารถทำได้โดยง่ายจากการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ โดยทันตแพทย์จะตรวจหาลักษณะจำเพาะบางอย่างเช่น การบวมโตของเนื้องอก หรือความผิดปกติของเนื้อเยื่อในช่องปาก รวมถึงการบวมโตบริเวณศรีษะและลำคอ การตัดเนื้อเยื่อส่งตรวจจำเป็นต้องทำในกรณีสงสัยโรคมะเร็งในช่องปากเพื่อให้ผลการตรวจพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อ
การรักษาโรคมะเร็งในช่องปากมีกระบวนการเช่นเดียวกับมะเร็งในตำแหน่งอื่นๆ คือการผ่าตัดรักษาเอาเนื้องอกออก ร่วมกับการฉายรังสีรักษา และอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยในบางกรณีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่

 

การป้องกันโรคมะเร็งช่องปาก

สามารถทำได้โดย
• งดสูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก และดื่มสุราเป็นประจำ
• รับประทานอาหารอย่างสมดุล
การเฝ้าระวังโรคมะเร็งในช่องปาก
• ตรวจเนื้อเยื่อในปากด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทำได้ง่ายโดยใช้ไฟส่องสว่างร่วมกับกระจก เพื่อดูเนื้อเยื่อในช่องปากบริเวณริมฝีปาก เหงือก ลิ้น เนื้อเยื่อพื้นปาก และเพดานปาก คลำหาก้อนบริเวณลำคอทั้งสองข้างและใต้คาง หากพบความผิดปกติจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล
• พบทันตแพทย์เป็นประจำ แม้ว่าจะทำการตรวจด้วยตนเองสม่ำเสมอ แต่รอยโรคอาจจะขนาดเล็กหรืออยู่ในตำแหน่งที่พบได้ยาก โดยแนะนำให้ตรวจเฝ้าระวังทุกๆสามปีสำหรับบุคคลที่อายุมากกว่า 20 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปีสำหรับบุคคลที่อายุมากกว่า 40 ปี โดยสามารถสอบถามทันตแพทย์ที่ทำการตรวจให้ทำการตรวจเฝ้าระวังโรคมะเร็งในช่องปากเพิ่มเติมได้

Scroll to Top